Stay on this page and when the timer ends, click 'Continue' to proceed.

Continue in 17 seconds

พพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ร่างแผนพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน

พพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ร่างแผนพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน

Source: สำนักข่าวไทย อสมท

กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. - พพ.เดินหน้าพลังงานสะอาดมากขึ้น ลดใช้พลังงานเข้มข้น เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการ ด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2567-2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2567-2580 (EEP2024) วางเป้าเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36% และลดความเข้มการใช้พลังงาน 36% ในปี 2580 หมุนตามทิศทางโลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปลื้มนำประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)กล่าวเปิดเวที่รับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2567 - 2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 - 2580 (EEP2024) โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมปรินซ์พาเลชกรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ โดยร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 เป็นไปตามนโยบายแผนพลังงานชาติ ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ แผน AEDP 2024 ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกตามศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศด้วยเทคโนโลยีและราคาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาด และการบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศโดย AEDP ฉบับนี้ กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36 % ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายปี พ.ศ. 2580 และจะมีการทบทวนแผนนี้ในอีก 3 ปีจ้างหน้า รวมทั้งหากได้ผลเกินคาดก็มีโอกาสขยับขึ้นเป็น 40 % ก็เป็นไปได้ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน อาทิ ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยมาตรการทางภาษี ส่งเสริมการบริหารจัดการ จัดเก็บ และรวบรวมเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการแปรรูปเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักหรือเชื้อเพลิงร่วม ส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ตาม AEDP 2024 นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 koe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบเทียบเท่ามูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา เกิด มูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 Mt-C02 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ในปี2580 เมื่อเทียบกับปี 2565

ขณะที่ ร่างแผน EEP2024 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี 2580 หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า โดยหลังจากนี้ พพ.จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจัดทำร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 ที่สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทาง OR code ลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ดังนั้น พพ.ขอขอบคุณทุกความคิดเห็นในเวทีฯครั้งนี้ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกและการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะนำไปใช้ให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผนงานทั้งหมดแม้ว่าภาคเอกชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเพิ่มภาระและต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการพลังงานสะอาดไปควบคู่กันนั้น ตรงนี้ทาง พพ.จะมีแนวทางการช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างไร ซึ่ง พพ.คงต้องไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 3 การไฟฟ้า ที่จะช่วยกันลดต้นทุนภาระต่างให้กับผู้ประกอบการรวมถึงกลุ่มประชาชนที่ตื่นตัวหันมาใช้พลังงานทางเลือกกันมากขึ้นอีกด้วย. -514-สำนักข่าวไทย